วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จังหวัดสมุทรคราม



จังหวัดสมุทรสงคราม


















ความสำคัญของจังหวัดสมุทรสงครามนั้น มีหลายประการ ทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถานท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การดำรงชีวิตไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบไทย ๆ และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือ ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ของไทย
จังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และเป็นเมืองของพระราชินีของไทยถึงสองพระองค์ คือ สมเด็จพระอัมนินทรามาตย์ในรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2
เมืองเก่าที่เคยชื่อว่าเมืองแม่กลองนั้น มีมาตั้งแต่อดีต นานเท่าใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เป็นชุมชนที่มีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมเป็นแขวงหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เรียกว่า สวนนอก ครั้นต่อมาช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาต่อกับสมัยกรุงธนบุรี จึงแยกออกมาจากราชบุรี เรียกว่า "เมืองแม่กลอง"

ความเป็นมาของท้องถิ่น
เนื่องจากพื้นที่เมืองสมุทรสงครามส่วนใหญ่อยู่ 2 ฟากแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนานาชนิด ประกอบกับชาวเมือง มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ เมืองสมุทรสงครามจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผลการเกษตรขนาดใหญ่ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น ข้าว น้ำตาล ผัก ปลา มาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในขณะที่ผู้คนในกรุงเทพฯ มีจำนวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สมุทรสงครามจึงต้องทำหน้าที่เป็น "คลังเสบียง" ของคนกรุงเทพฯ มากขึ้น อดีตพระมหากษัตริย์ไทยจึงโปรดให้มีการขุดคลองแม่กลอง คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองมหาชัย และคลองมหาสวัสดิ์ขึ้น เพื่อให้เรือบรรทุกพืชผลผ่านเข้ามากรุงเทพฯ ได้สะดวกและรวดเร็วกว่าแต่ก่อน
ในบริเวณพื้นที่ของสมุทรสงคราม ตำบลอัมพวาดูจะมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ผู้คนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นถิ่นที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริเวณพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้เป็นทั้งนักปกครอง นักปราชญ์ นักรบ และราชศิลปินของไทย ดังประวัติศาสตร์โดยย่อดงันี้
เมื่อ พ.ศ. 2303 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นายทองด้วงเป็นหลวงยกกกระบัตรเมืองราชบุรี และเมืองสมุทรสงคราม เป็นเมืองจัตวา อยู่ในพื้นที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อมารับราชการอยู่เมืองราชบุรีไม่นาน หลวงยกกระบัตรก็ได้พบกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีใหญ่เขตบางช้างเมืองสมุทรสงคราม พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเล่าไว้ในสามกรุงว่า "ทรงได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า ครั้นนั้นมีข้าหลวงจากในกรุงออกมาสืบหาบุตรสาวของผู้ดีมีตระกูล และมีลักษณะสวยงาม เพื่อจะนำไปเป็นพระสนมของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ คุณนาคนี้ มีคุณสมบัติจึงถูกจดชื่อไว้ด้วยคนหนึ่ง ท่านทอง ท่านสั้น บิดามารดาของคุณนาควิตกมาก เพราะไม่ต้องการให้บุตรสาวไปเป็นพระสนม จึงชวนพระสมุทรสงคราม เจ้าเมืองสมุทรสงครามลูกผู้พี่ของท่านสั้น เข้าไปปรึกษาหลวงพินิจอักษร ชื่อเดิมว่าทองดี รับราชการเป็นเสมียนตรากรมมหาดไทยสมัยนั้น หลวงพินิจอักษรเห็นว่า มีทางแก้ไขประการเดียว คือ รีบแต่งานกับหลวงยกกกระบัตรเมืองราชบุรี บุตรชายของตน ท่านทองกับท่านสั้นก็เห็นด้วย จึงรีบจัดพิธีแต่งงานและปลูกบ้านใหม่บริเวณวัดอัมพวันเจติยารามปัจจุบัน"
ในปี พ.ศ. 2308 พม่าได้ยกทัพมารบกับกรุงศรีอยุธยาอีก คราวนี้เข้าตั้งทัพที่ราชบุรี ในกรุงส่งทหารมาขับไล่แต่ถูกพม่าตีกลับ หลวงยกกระบัตรต้องรีบเกณฑ์คนส่งไปเป็นทหารในกรุง แล้วส่งเสบียงแก่กองทัพบก ทัพเรือตลอดเวลา พม่าตั้งทัพออยู่นาน 6 เดือน สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเมืองสมุทรสงครามมาก พม่าล้อมกรุงไม่นานก็ยกทัพกลับไป ก่อนกลับได้ตั้งกองกำลังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นกรุงศรีออยุธยา และที่ธนบุรี ต่อมาอีก 7 เดือน กองทัพพม่าถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินตีแตก ในเวลาอันรวดเร็ว และได้รวบรวมผู้คนไว้เป็นปีกแผ่น ประกาศให้ชาวเมืองทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ รีบกลับบ้านเรือนลงมือประกอบอาชีพโดยด่วน หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้ย้ายครอบครัวของตนและผู้มาพึ่งพาอาศัยทั้งหมด กลับมาอยู่ที่บ้านเดิมอัมพวา ขณะนั้นคุณนาคครรภ์แก่มากแล้ว วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 คุณนาคคลอดบุตรเป็นชายได้รับการตั้งชื่อว่า "ฉิม" ซึ่งบุคคลผู้นี้ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพรุพทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ที่มีความเฉลียวฉลาดเก่งกาจหลายด้าน และในปีเดียวกันนี้เอง แรม 12 ค่ำ เดือน 10 ท่านแก้ว พี่สาวหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเจ้าสัวผู้เป็นสามีได้อพยพเข้ามาอยู่ด้วยได้คลอดบุตร คนที่ 4 เป็นหญิง ตั้งชื่อว่า "บุญรอด" ต่อมามีบุญบารมีได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 และมีพระราชโอรสได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์อีกด้วย
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงสถาปนาเมืองธนบรีขึ้นเป็นราชธานี และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี 2311 แล้วได้โปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จแม่ทัพนายกอง ครั้งนั้นหลวงยกกระบัตรฯ ได้เข้ามาถวายตัวรับราชการด้วย จึงอพยพครอบครัวพร้อมคุณนวลน้องสาวคุณนาค ครอบครัวท่านแก้วเดินทางเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานที่ข้างวัดระฆัง (อู่ทหารเรือขณะนั้น) ให้ปลูกบ้านใกล้พระราชวังและได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนหลวงยกกระบัตร เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจนอกขวา แล้วได้เลื่อนขึ้นไปสูงเรื่อย ๆ จนได้เป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และได้ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนาสมเด็จพระยาสุรสีห์ เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
เหล่านี้เป็นเกียรติประวัติที่ชาวสมุทรสงครามไม่เคยลืม และโดยเฉพาะชาวอัมพวารู้สึกภูมิใจมากเป็นพิเศษ เพราะตำบลอัมพวาเป็นถิ่นกำเนิดบุคคลที่เป็นยอดคนของเมืองไทยถึงสามท่านด้วยกัน ทำให้ญาติของท่านในภายหลังได้รับพระราชทานนามสกุล ที่ทำให้รำลึกถึงภูมิกำเนิดดังเดิมอยู่เสมอว่า "ณ บางช้าง" เพราะตำบลอัมพวาในปัจจุบันก็คือ แขวงบางช้างเดิมนั่นเอง
คำว่าสวนนอกนี้ นายเทพ สุนทรสารทูล ผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมุทรสงครามไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง การเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม ได้กล่าวถึงสวนนอกเอาไว้ว่า เพราะเหตุที่ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) มเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านเป็นชาวบางช้าง มีพระประยูรญาติและเรือกสวนออยู่ในเขตบางช้างมาก จึงมีคำพูดหนึ่งว่า "บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน" หมายความว่า เรือกสวนทางบางช้างนั้น เป็นสวนอยู่บ้านนอก และบางกอกนั้นเป็นสวนใน คือ ใกล้บ้านใกล้วังของนายวงศ์นี่นั่นเอง"
พลโท ดำเนิร เลขะกุล ผู้เขียนเรื่อง อัมพวามาตุภูมิราชศิลปิน ได้พบข้อความสนับสนุนประกาศในรัชกาลที่ 4 เรื่อง เลิกภาษีมะพร้าว ซึ่งประกาศเมื่อแรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีชวด (พ.ศ.2407) ตอนท้ายได้กล่าวว่า "การประกาศนี้ให้พระแก้วคฤหรัตนบดี จ้ากรมขุนพิพัฒนากร ปลัดซ้าย ขุนวิสุทธากร ปลัดขวาพระคลังสวนใน หลวงแก้วเจ้ากรมขุนสมบัติ ปลัดกรมสวนนอก ขุนหมื่นนายระวาง บอกประกาศแก่ราษฏรเจ้าของสวนให้จงรู้ทั่วกัน" เป็นอันว่าสวนนอกสวนใน ล้วนเป็นสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ขณะนี้เหลือแต่สวนนอกที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น ที่ยังมีต้นมะพร้าวแน่นทึบเป็นป่าอยู่สองข้างฝั่งแม่น้ำแม่กลอง แต่สวนใน (กรุงเทพฯ) นั้นได้กลายเป็นโรงเรือนที่อยู่ และที่ค้าขายทำกินไปสิ้นแล้ว
การจัดรูปแบบการปกครองจังหวัดสมุทรสงคราม จากอดีตสู่ปัจจุบัน ด้านการปกครองจังหวัดสมุทรสงครามนั้น ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2435 สมุทรสงครามมีการปกครองเหมือนกับหัวเมืองทั่วไป คือ มีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระ ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ กล่าวคือ ในส่วนกลางได้จัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น และในปี พ.ศ. 2473 ได้ตั้งมณฑลราชบุรี โดยรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 5 เมือง คือ เมืองราชบุรี กาญจนบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี และเมืองสมุทรสงคราม
ต่อมาได้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารราชการ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ซึ่งได้จัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาคไว้เป็นจังหวัด และอำเภอ อันเป็นการยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลไป เป็นการแบ่งเขตจังหวัด ขึ้นตรงต่อบริหารราชการส่วนกลาง ดังนั้น ปัจจุบันสมุทรสงคราม จึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ประกอบด้วยอำเภอต่าง ๆ รวม 3 อำเภอด้วยกัน คือ 1. อำเภอเมืองสมุทรสงคราม 2. อำเภออัมพวา 3. อำเภอบางคนที โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่ส่งมาจากส่วนกลาง กระทรวงมหาดไทยและมีคณะกรรรมการจังหวัด ช่วยบริหารงานให้ประชาชน มีความเป็นอยู่อย่างสงบสุขและเรียบร้อย
ประวัติอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม 1. อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภอเมืองสมุทรสงคราม เป็นอำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ปรากฏหลักฐานว่าก่อนที่จะมีชื่อว่าอำเภอเมือง ได้มีการโยกย้ายสถานที่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่ออำเภอมาแล้วหลายชื่อ ตามปรากฏในหนังสือ "สมุดราชบุรี" และหนังสือราชการบ่งไว้ว่า ได้มีการตั้งชื่ออำเภอนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2440 มีชื่ออำเภอในครั้งแรกว่า "อำเภอลมทวน" โดยอยู่ที่ปากคลองลัดจวน (คำว่าจวน หมายถึง บ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยก่อน) ที่ใช้ชื่ลมทวน เห็นจะเป็นเพราะอำเภอตั้งอยู่บริเวณคุ้งของแม่น้ำแม่กลอง ที่มีลมทวนไม่เหมือนกับคุ้งแม่น้ำตอนอื่น ๆ ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอลมทวน เป็นชื่ออำเภอเมืองฯ จนถึงปี พ.ศ. 2444 ทางราชการจัดสร้างที่ว่าการอำเภอในที่ดินที่เป็นที่ธรณีสงฆ์วัดใหญ่ ริมแม่น้ำแม่กลอง ระหว่างปากคลองแม่กลองกับคลองลัดจวน นับเป็นการสร้างที่ว่าการอำเภอเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้นจะใช้บ้านพักของนายอำเภอ หรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ทำการ ชื่ออำเภอจึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอเมืองเป็นอำเภอบ้านปรก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 กอง โรงเรียนพลทหารเรือที่ 1 ได้ยุบเลิกโดยยกอาคารและที่ดินมอบให้กระทรวงมหาดไทย สำหรับตั้งศาลากลางจังหวัด เพราะเดิมเป็นที่ธรณีสงฆ์และน้ำเซาะพัง และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านปรกเป็น อำเภอแม่กลองการตั้งชื่ออำเภอในสมัยนั้น พอสันนิษฐานได้ว่า คงถือเอานามตำบลของที่ตั้งอำเภอเป็นหลักฐานในการตั้งชื่ออำเภอ ดังจะเห็นได้จาก เมื่อครั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่ตำบลลมทวน ก็เรียกชื่ออำเภอลมทวน เมื่อย้ายมาอยู่ที่ตำบลบ้านปรก เรียกอำเภอบ้านปรก ย้ายไปอยู่ที่ตำบลแม่กลอง เรียกอำเภอแม่กลอง ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและทางราชการ ประกอบกับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดใหม่ทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นอำเภอเมืองของจังหวัดนั้น ๆ ตามประกาศในพระราชกฤษฏีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่งพุทธศักราช 2481 ดังนั้นอำเภอแม่กลอง จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "อำเภอเมืองสมุทรสงคราม" ตั้งแต่นั้นมา
2. อำเภออัมพวา อำเภออัมพวา ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ไม่มากนักต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 ผู้คนอพยพมาอยู่กันมากขึ้น เพราะมีทำเลเหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นที่อยู่อาศัย ตามหลักฐานที่พอจะค้นคว้าได้นั้น ปรากฏว่า ทึ่ว่าการอำเภออัมพวาในอดีตได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดอัมพวันเจติยาราม ต่อมาได้ย้ายข้ามคลองอัมพวาไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท้ายตลาด ตำบลบางกะพ้อม ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่เดิมไปประมาณ 400 เมตร และได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองมาจนทุกวันนี้ และคงใช้ชื่ออัมพวา เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีต้นมะพร้าว และต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นมะพร้าวนั้นเป็นพืชหลักของสมุทรสงครามและมีอยู่ทั่วไป ส่วนต้นมะม่วงมีการปลูกอยู่อย่างหนาแน่นที่บริเวณนี้ จึงใช้ชื่ออัมพวามาตลอด
3. อำเภอบางคนที ตำบลต่าง ๆ ในเขตอำเภอบางคนที ขึ้นตรงกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2437 หม่อมเจ้าสฤษฏ์เดช สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้พิจารณาแบ่งเขตการปกครอง ด้วยประชานในเขตนี้ร้องเรียนไปว่า การไปมาติดต่อราชการกับอำเภอดำเนินสะดวกไม่สะดวกสมชื่อเพราะระยะทางไกล จึงจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่ เรียกว่า "อำเภอสี่หมื่น" ตั้งอยู่ตรงปากคลองแพงพวย แต่ยังสังกัดอยู่กับจังหวัดราชบุรี ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ทางราชการได้จัดระบบการปกครองใหม่อีกครั้ง จึงได้ย้ายอำเภออสี่หมื่น มาปลูกสร้างในที่ดินของวัดใหม่พิเนทร์ (วัดร้าง) โดยปลูกเป็นอาคารชั้นเดียวหลังคามุงจาก อยู่ใต้ปากคลองบางคนที คลองนี้เป็นคลองที่อยู่ในย่านกลางชุมชน มีผู้คนอาศัยอยู่มาก จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอสี่หมื่นเป็น "อำเภอบางคนที" ตามชื่อคลองแล้วแยกจากจังหวัดราชบุรี มาขึ้นต่อจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอยู่ 2 อำเภอ ประกาศตั้งเป็นอำเภอบางคนทึ่ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 28 หน้า 489 ลงวันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ.130
บทสรุป จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมุทรสงครามเดิมมีชื่อว่า แม่กลอง เป็นเมืองที่เกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในสังกัดกรมเจ้าท่า เจ้าเมืองมีฐานะเป็นพระแม่กลองบุรี ขึ้นอยู่กับเมืองราชุบรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีฐานะเป็นจังหวัดอย่างสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5
จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีอายุยังน้อย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ดินงอกใหม่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบจึงเป็นช่วงรัตนโกสินทร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะหลักฐานเดิมได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว เช่น ป้อมพิฆาตข้าศึก กลายเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ ค่ายจีนบางกุ้งบริเวณวัดบางกุ้ง เป็นค่ายลูกเสือสมุทรสงคราม (เลิกกิจการไปแล้ว) จึงอาจกล่าวได้ว่าโบราณสถาน โบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม พบมากบริเวณวัดต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดสมุทรสงคราม บนเรือนไทยในอุทยาน ร.2
ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ทางราชการเห็นความสำคัญ คือ เป็นนิวาสถานเดิมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และถิ่นพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จึงถือว่าจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเมืองต้นราชนิกูลและเป็นเมืองแห่งราชศิลปิน จึงกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติที่พระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม และอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุททยาน ร. 2)











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น